รวมคำพังเพย สำนวนสุภาษิตไทย พร้อมความหมาย

คำพังเพย สำนวนสุภาษิตไทย
X
Advertisements

สำนวนสุภาษิต คำพังเพย คือ ถ้อยคำที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านาน และมีความหมายเป็นคติสอนใจ สุภาษิตคือภูมิปัญญาชาวบ้านหรือคำแนะนำที่แสดงออกผ่านประโยคสั้นๆ ที่มีสาระ สุภาษิตส่วนใหญ่เป็นของท้องถิ่น สะท้อนถึงภูมิปัญญา ความเชื่อ และประเพณีของสถานที่ แต่บางคำก็อยู่เหนืออุปสรรคทางวัฒนธรรมและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

รวมคำพังเพย สำนวนสุภาษิตไทย พร้อมความหมาย, รูป

สำนวนมีที่มาหรือบ่อเกิดแห่งสำนวนแตกต่างกัน สำนวนที่เกิดจากธรรมชาติ การกระทำ สิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ อุบัติเหตุ แบบแผนประเพณี ศาสนา ความประพฤติ การ ละเล่น จากนิทานตำนาน พงศาวดารหรือประวัติศาสตร์

คนที่ชอบพูดสำนวนบ่อยๆ มักเป็นคนช่างสังเกตุ ช่างคิด มีการพูดเชิงเปรียบเทียบหรือกระทบกระเทียบ ประชดประชัน หรือพูดให้สนุก เป็นอุทธาหรณ์ เตือนสติให้คิด อย่าง ไรก็ตามสำนวนที่ใช้พูดเชื่อว่ามีมาตั้งแต่โบราณ เกิดขึ้นตามยุคสมัยต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป พัฒนาการของสำนวนจึงมีทั้งที่เปลี่ยนแปลงไป สำนวนเก่า ในยุคปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วบ้าง และสำนวนที่เกิดมาใหม่ก็มีเช่นกัน การพูดสำนวนนั้นมีความหมาย แสดงความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม

จะสังเกตุได้ว่า สำนวนของชาติใดๆ คน ที่อยู่นอกบริบทของสังคมนั้นมักไม่เข้าใจความหมายเพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในสังคมนั้น เช่น คนไทย นิยมพูดสำนวนว่า “จับปลาสองมือ” ในขณะที่ คนอาหรับ จะพูดว่า “ขี่ม้าสองตัวในเวลาเดียวกัน” หรือ คนกรีก พูดว่า “มือเดียวถือแตงโมสองผลไม่ได้” หรือสำนวนของคนเวียดนามว่า “คานหามสามีไปหน้า คานหามภรรยาก็ตามหลัง” เปรียบเทียบกันสำนวนไทย “สามีเป็นช้างเท้าหน้า ภรรยาเป็นช้างเท้าหลัง” คนไทยไม่มีม้าขี่เป็นพาหนะ จึงไม่มีสำนวนเกี่ยวกับม้า แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีความอุดมสมบูรณ์ของน้ำ พืช ป่า และอาหาร จึงใช้ปลาเป็นสัญลักษณ์ ในการเปรียบ หรือประเทศไทยมีช้างมาก นิยมเลี้ยงช้างตั้งแต่สมัยโบราณ ก็จะเปรียบการก้าวเดินของช้างว่าเท้าหน้าต้องก้าวก่อน จะหมายถึง ชายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วน ภรรยาถือว่าเป็นเท้าหลัง ก้าวตาม ซึ่งต่างกับชาวญวนที่เปรียบกับคานหาม ที่ให้สามีเป็นผู้เดินนำหน้า ส่วนภรรยาเป็นผู้ตาม เป็นต้น ฉะนั้นสำนวนที่ใช้พูดกันติดปากจะแสดง พื้นฐานความคิด ความรู้สึก ความเป็นอยู่ ความต้องการของสังคมนั้นๆ ด้วย

หมวดหมู่ ก.

  • กงเกวียนกำเกวียน ความหมาย: ทำอะไรกับใครไว้ ย่อมได้รับผลกรรมนั้น เปรียบเปรยอีกอย่างก็คือกรรมตามสนองเหมือนกับสิ่งที่ทำลงไป
  • กบในกะลาครอบ ความหมาย: มีความรู้หรือประสบการณ์น้อยมักนึกว่าตัวรู้มาก เปรียบคนๆ หนึ่งที่ไม่รู้เท่ากับอีกคน แต่ยังยืนกรานในสิ่งที่ตนเชื่อทั้งๆ ที่โลกภายนอกนั้นไปต่อไหนถึงไหนแล้ว
  • กบเลือกนาย ความหมาย: คนช่างเลือก ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี เลือกจนในที่สุดก็ไม่ได้สิ่งที่ดีกว่าเดิม ท้ายสุดกลับได้ของที่ไม่ต้องการหรือไม่มีค่าอะไรเลย
  • กรวดน้ำคว่ำขัน (คว่ำกะลา) ความหมาย: ตัดขาดไม่เกี่ยวข้องด้วย ชาตินี้อย่าได้มาเจอกันอีก ถือว่าจบกันด้วยความไม่ดี ไม่เหลือความสัมพันธ์
  • กระเชอก้นรั่ว ความหมาย: กล่าวถึงนิสัยแบบหนึ่ง ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่ประหยัด ไม่เก็บหอมรอมริบ ใช้เล็ก ใช้น้อยเหมือนดั่งเก็บน้ำไว้ในกระเชอสุดท้ายแล้วมันก็ซึมออกจากภาชนะในที่สุด
  • กระดี่ได้น้ำ ความหมาย: ดีอกดีใจจนเกินงาม เนื้อตัวสั่น ทำแว้ดๆ ดิ้นๆ เหมือนปลากระดี่ได้น้ำ
  • กระต่ายขาเดียว / กระต่ายสามขา ความหมาย: ยืนกรานไม่ยอมรับผิด ฉันไม่ได้ทำ ฉันเปล่านะ ยืนยันแบบข้างๆ คูๆ และไม่เปลี่ยนความคิด
  • กระต่ายตื่นตูม ความหมาย: ตื่นตกใจง่าย ยังไม่ทันหาสาเหตุให้ชัดเจนเสียก่อนแล้วโวยวาย หรืออาการที่ตื่นตกใจง่ายโดยไม่ทันสำรวจให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าอะไรเป็นอะไร
  • กระต่ายหมายจันทร์ ความหมาย: ผู้ชายที่หมายปองหญิงสูงศักดิ์ ฐานะดีกว่าตัวเอง สำนวนดังกล่าวใช้ในการเตือนสติหนุ่มให้รู้จักในการประมาณตน ทำและคิดในเรื่องที่เป็นไปได้รักและชอบคนที่อยู่ในระดับเดียวกันอย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์
  • กระโถนท้องพระโรง ความหมาย: บุคคลที่ถูกใครๆ รุมใช้อยู่คนเดียว หรือป็นคนที่ถูกใช้เป็นที่ระบายอารมณ์ เป็นที่รองรับอารมณ์ของคนอื่นๆ
  • กลับเนื้อกลับตัว ความหมาย: เลิกทำความชั่ว แล้วมาประพฤติตัวเป็นคนดี สำนวนสุภาษิตคำพังเพยนี้ใช้ในการเตือนสติคนที่กำลังหลงผิดหรือทำความผิดอยู่ ให้ลดละเลิกทำความชั่ว
  • กลับหน้ามือเป็นหลังมือ ความหมาย: เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างตรงกันข้าม หรือารเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงกันข้ามกับสิ่งเดิมๆ
  • กล้านักมักบิ่น ความหมาย: กล้าเกินไปมักจะเกิดอันตรายได้ หรือคนที่มีความกล้ามากเกินไป หรือทำตัวอวดฉลาดอาจจะต้องพบเจอกับอันตราย
  • กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ ความหมาย: ทำงานสองอย่าง แบบลังเลใจ แก้ปัญหาไม่ทันท่วงทีต้องเสียงานไปหนึ่งอย่าง ดุจเอาถั่วกับงามาคั่วพร้อมกัน กว่าจะคั่วจนถั่วสุก งาก็จะไหม้หมดไปก่อน
  • ก่อร่างสร้างตัว ความหมาย: ทำงานหาเงินเป็นกอบเป็นกำ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน นิยมใช้กับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ กำลังเก็บสะสมทรัพย์สินเงินทองเพื่ออนาคตที่ดี
  • กาคาบพริก ความหมาย: สีผลพริกที่ตัดกับสีตัวนกกา ระหว่างสีแดงที่มันฉูดฉาด กับสีดำของตัวนกกาจะตัดกันมากๆ กล่าวคือคนผิวดำที่ชอบแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าสีแดงๆ หรือสีแจ๋นๆ
  • กำขี้ดีกว่ากำตด ความหมาย: การกำขี้นั้นยังเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่ตดนั้นไม่สามารถที่จะจับต้องได้ เปรียบคือได้มาบ้างดีกว่าไม่ได้อะไรเลย
  • กำแพงมีหูประตูมีช่อง / กำแพงมีหูประตูมีตา ความหมาย: เปรียบกำแพงมีหูคอยฟัง เปรียบประตูมีช่องไว้มองเห็น คือจะพูดอะไรต้องระวัง อาจมีคนรู้ได้
  • กิ่งทองใบหยก ความหมาย: ชายหนุ่มกับหญิงสาวที่เหมาะสมกันดีที่จะแต่งงานกัน จะใช้คำอุปมาเสมือนดั่งว่า คู่ควรกันราวกับกิ่งทองใบหยก
  • กินที่ลับไขที่แจ้ง ความหมาย: เอาความลับหรือเอาเรื่องที่ทำกันที่ลับมาเปิดเผยให้คนเขารู้ จนเกิดความเสียหายกับผู้อื่น ส่วนมากจะใช้กับชายหนุ่ม และ หญิงสาวที่แอบได้เสียกัน
  • กินน้ำใต้ศอก ความหมาย: เมียน้อยต้องยอมรับของเหลือเดนจากเมียหลวงตกเป็นรองด้านศักดิ์ศรี ใบบ้านเราจําต้องยอมเป็นรองเขา ไม่เทียมหน้าเทียมตาเท่า (มักหมายถึงเมียน้อยที่ต้องยอมลงให้แก่เมียหลวง)
  • กินน้ำพริกถ้วยเก่า ความหมาย: กินน้ำพริกแบบเก่าๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีในการทำเลย เพราะคนตำน้ำพริกก็คนเดิม ช้กับชายที่กลับมาอยู่กับเมียคนเดิม
  • กินน้ำไม่เผื่อแล้ง ความหมาย: มีอะไรใช้หมดทันทีไม่คิดถึงวันข้างหน้า หรือมีเงิน มีของก็ใช้ถลุงเสียจนหมด ไม่ห่วงอนาคตข้างหน้า
  • กินน้ำเห็นปลิง ความหมาย: สิ่งใดที่เรากำลังทำหรือที่เราต้องการแต่เมื่อพบเห็นว่าสิ่งนั้นน่ารังเกียจ หรือมีอะไรที่ไม่บริสุทธิ์อยู่ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ หรือตะขิดตะขวงใจกับคนชั่วที่รู้พูดหรือคบด้วยโดยรู้ว่าเขาไม่ดี
  • กินบนเรือนขี้บนหลังคา ความหมาย: ใช้พูดเปรียบเทียบคนที่ไม่รู้จักบุญคุณ คนเนรคุณ ไปอาศัยอยู่บ้านคนอื่น ซึ่งเจ้าของบ้านให้ความ เอ็นดู ช่วยเหลือดู แต่กลับไม่รู้จักบุญคุณ สร้างปัญหา ทำความบัดซบให้ สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้าน
  • เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน ความหมาย: เก็บเล็กผสมน้อย เก็บส่วนเล็กส่วนน้อยจนเป็นรูปเป็นร่างเป็นกอบเป็นกำ หรือการจะทำงานเล็กใหญ่ ก็พยายามค่อยๆ ทำให้ดีขึ้นแม้เล็กน้อยๆ เมื่อรวมกันและใช้เวลาก็จะทำให้การงานนั้นเห็นผลเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้
  • เกลือจิ้มเกลือ ความหมาย: แก้เผ็ดให้สาสมกัน แก้แค้นให้สาสมกับที่ทำไว้ ไม่ยอมเสียเปรียบกัน
  • เกลือเป็นหนอน ความหมาย: ญาติมิตร สามีภรรยา ลูก เพื่อน หรือ คนในบ้าน หรือคนภายในกลุ่มของเรา คิดทรยศไปบอกความลับฝ่ายตรงข้าม
  • เกี่ยวแฝกมุงป่า ความหมาย: ทำอะไรเกินกำลังความสามารถของตัวเอง ทำอะไรโดยไม่ประเมินกำลังของตนว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย
  • แกว่งเท้าหาเสี้ยน ความหมาย: อยู่ดีไม่ว่าดี ไปหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว มักจะใช้กับคนที่ชอบเข้าไปยุ่งเรื่องของผู้อื่น จนทำให้ตัวเองต้องเดือนร้อน คนที่ชอบรนหาที่
  • ไก่แก่แม่ปลาช่อน ความหมาย: หญิงมีอายุมาก มีมารยามาก เล่ห์เหลี่ยมมาก จัดจ้าน ผู้หญิงที่มีแง่งอน สะบัดสะบิ้ง
  • ไกลปืนเที่ยง ความหมาย: เปรียบกับคนคนที่ไม่ค่อยรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง หรือของโลก เพราะอยู่ห่างไกลความเจริญ
  • ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ความหมาย: คนสองคน ต่างก็รู้ความลับหรือนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี แต่คนอื่นนั้นไม่รู้เรื่องของทั้งสอง
  • ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง ความหมาย: ความงาม ความสวย ความหล่อ ภาพลักษณ์ที่ดูดีของคนเรานั้น สามารถทำ ได้ด้วยการปรุงแต่ง การแต่งหน้า แต่งตัว ให้เหมาะสม เรียบร้อย ถูกกาละเทศะ ก็ช่วยให้ดูดีได้
  • กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ความหมาย: การตกอยู่ในภาวะลำบากใจ ตัดสินใจไม่ถูกไม่รู้จะทำอย่างไรดี หมดหนทางไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกทางไหนก็ส่งผลกระทบทั้งนั้น เป็นการยากที่จะตัดสินใจ
  • กระดังงาลนไฟ ความหมาย: หญิงที่เคยแต่งงานหรือผ่านผู้ชายมาแล้ว ย่อมรู้จักชั้นเชิงทางปรนนิบัติและเอาอกเอาใจผู้ชายได้ดีกว่าหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน
  • กวนน้ำให้ขุ่น ความหมาย: ทำเรื่องราวที่สงบอยู่แล้วให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา อาทิเช่น เรื่องราวที่สงบไปแล้ว แต่มีคนนำกลับมาพูดกล่าวขานรื้อฟื้นขึ้นมาพูดวิพากษ์วิจารณ์กันอีก จนกระทั่งมันกลับเป็นเรื่องเป็นราววุ่นวายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

หมวดหมู่ ข.

  • ขวานผ่าซาก ความหมาย: พูดจาตรงๆ ไม่เกรงใจใครเลย มักใช้กับคนที่มีลักษณะการพูดจาตรงเกินไป โผงผาง ไม่เกรงใจใคร พูดไม่ดูกาลเทศะ ไม่ใส่ใจว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร
  • ขายผ้าเอาหน้ารอด ความหมาย: ยอมเสียสละของสำคัญของตนเพื่อรักษาชื่อเสียงตนเอาไว้ มักใช้กับคนที่ยอมสละของจำเป็นที่มีอยู่ นำสิ่งของที่มีอยู่ออกมาใช้ หรือหยิบฉวยสิ่งที่พอหาได้ใช้ไปก่อน เพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าให้เอาตัวรอดไปก่อน
  • ขิงก็รา ข่าก็แรง ความหมาย: ต่างคนต่างอารมณ์ร้อนพอกัน ต่างคนต่างไม่ยอมกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ถูกกัน ต่างไม่ยอมลดละกัน ไม่ยอมซึ่งกันและกัน เจอกันทีไรก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง
  • ขี่ช้างจับตั๊กแตน ความหมาย: ลงทุนมาก แต่กลับได้ผลนิดหน่อย ล่าวคือบุคคลที่ทำการลงทุนลงแรงหรือเวลาเป็นจำนวนมากจนเกินความจำเป็น เพื่อทำในสิ่งที่จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาจำนวนน้อยนิด
  • ขุดด้วยปาก ถากด้วยตา ความหมาย: เหยียดหยามทั้งวาจา และสายตามองแบบดูถูก พูดจาทิ่มแทงให้เขาเสียหาย และมองด้วยสายตาเหยียดหยามไม่จริงใจ
  • ขุดบ่อล่อปลา ความหมาย: ทำกลอุบายให้เขาเชื่อเพื่อหวังผลประโยชน์ หรือเพื่อหลอกลวงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลงเชื่ออย่างสนิทใจ โดยมุ่งหวังประโยชน์จากฝ่ายนั้น
  • เข็นครกขึ้นภูเขา ความหมาย: การทำงานหรือทำอะไรที่ยากลำบาก เกินความสามารถของตน ต้องใช้ความเพียรพยายามและอดทนมากถึงที่สุด
  • เข้าด้ายเข้าเข็ม ความหมาย: คือระยะเวลาสำคัญที่กำลังจะทำอะไรเสร็จแหล่ไม่เสร็จแหล่ หรือกำลังคับขันเวลากำลังสำคัญ ถ้าพลาดหรือมีอะไรมาขัดจังหวะจะเสียการ
  • เข้าตามตรอก ออกตามประตู ความหมาย: ทำตามขนบธรรมเนียมประเพณี ทําตามธรรมเนียมในเรื่องการสู่ขอ ชายหนุ่มกับหญิงสาวที่ต่างก็ผูกสมัครรักใคร่กัน ต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
  • เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า / เข้าป่าอย่าลืมพร้า ความหมาย: ให้รอบคอบ อย่าประมาท จะทำอะไรให้ตระเตรียมของให้พร้อม เมื่อถึงเวลาจำเป็นจะได้หยิบฉวยมาใช้ได้ทันที
  • เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ความหมาย: โบราณท่านใช้สอนให้เรารู้จักการปรับตัว เปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ การปฏิบัติตนให้เหมาะสม ทำตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่คนในสังคมนั้นเขาทำกัน
  • เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ความหมาย: บอกหรือสอนไม่ได้ผล มีคนบอกหรือสอนอะไรไป ก็ไม่ตั้งใจ ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ไม่สนใจที่จะฟัง ทำเหมือนไม่ได้ยิน หรือฟังแล้วแต่ไม่สนใจทำตาม
  • เขียนเสือให้วัวกลัว ความหมาย: หลอก ขู่ ให้ฝ่ายตรงข้ามเสียขวัญหรือเกรงขาม แต่สิ่งที่ขู่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ถูกขู่ไม่มีความกลัวสิ่งนั้นเลย
  • เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า ความหมาย: คนที่เคยทำดีเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนที่เชื่อถือ ไว้ใจ แต่พอผ่านไปภายหลังกลับทำชั่วลบล้างความดีที่ตัวเองเคยทำมาไปอย่างง่ายดาย
  • เข้าไต้เข้าไฟ ความหมาย: ช่วงเวลาหัวค่ำ เวลาที่เพิ่งเริ่มค่ำ เป็นช่วงเวลาหลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท แต่บรรยากาศเริ่มมืดสลัวลงจนมองอะไรไม่ค่อยเห็น จึงต้องอาศัยแสงไฟช่วย
  • ข้าวใหม่ปลามัน ความหมาย: ของใหม่ๆ อะไรก็ดูดีไปหมด คนโบราณประดิษฐ์สำนวนสุภาษิตคำนี้ไว้เพื่อไว้สอนใจและเปรียบเทียบคู่สามีภรรยาที่เพิ่งแต่งงานแต่งการกันใหม่ๆ ความรู้สึก ความคิดหรืออะไรๆ ก็เหมือนจะดูดีไปซะหมด ความรักก็ยังหอมหวานจนหยาดเยิ้ม
  • ข้าเก่าเต่าเลี้ยง ความหมาย: คนเก่าคนแก่, คนที่อยู่ด้วยกันในฐานะรับใช้มานาน ที่อยู่ด้วยกันจนไว้วางใจได้ ซึ่งคนโบราณมักจะนำคำนี้ไปใช้กับคนที่อยู่ด้วยกันมานานในแง่ของความไว้ใจได้ ความซื่อสัตย์ที่เป็นที่ประจักษ์
  • ขว้างงูไม่พ้นคอ ความหมาย: ผู้ที่มีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วพยายามจะปัดความรับผิดชอบ เพื่อที่จะให้ปัญหาให้พ้นจากตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้  ยังต้องได้รับผลกระทบจากปัญหานั้นอยู่ดี

หมวดหมู่ ค.

  • คดในข้อ งอในกระดูก ความหมาย: กมลสันดาน เกิดมาก็ชอบคดโกง เปรียบเปรยคือคนไม่ซื่อสัตย์ มีนิสัยคดโกงเอาเปรียบผู้อื่นจนเป็นสันดาน
  • คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ ความหมาย: จะคบเพื่อนหรือจะคบกับใคร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเสมอ
  • คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิตบัณฑิตพาไปหาผล ความหมาย: การเลือกคบคนค้องพิจารณาให้ดีถ้าคบคนชั่วมาเป็นมิตร คนชั่วก็จะชักนำ พาเราไปในทางไม่ดี ถ้าคบคนดีมีความรู้ คนดีก็จะชักนำ พาเราไปในทางที่ดี
  • คลื่นกระทบฝั่ง ความหมาย: เรื่องราวใหญ่โตเกิดขึ้น แล้วก็เงียบหายไปในที่สุด เปรียบเปรยถึงเหตุการณ์สำคัญ เหตุการณ์ใหญ่ๆ ต่างๆ ที่ผู้คนต่างพูดถึงในวงกว้าง แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปในที่สุดเรื่องราวก็เงียบหายไปตามกาลเวลานั่นเอง
  • คลุมถุงชน ความหมาย: การแต่งงานที่เกิดขึ้นโดยการตัดสินใจของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ โดยที่คู่สมรส อาจจะสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ได้
  • ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด ความหมาย: มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ หรือถึงแม้จะมีความรู้อยู่กับตัวมากมาย แต่ก็ไม่สามารถเอาตัวให้รอดได้ในสถานการณ์นั้นๆ นั่นเอง
  • คอหอยกับลูกกระเดือก ความหมาย: การเข้ากันได้เป็นอย่างดี มากเสียจนแยกไม่ออก มักใช้ในของสองสิ่ง หรือคนสองคนนั้นสามารถเข้ากันได้อย่างดี
  • คางคกขึ้นวอ ความหมาย: คนที่มีฐานะต่ำต้อย พอได้ดีแล้วก็มักแสดงกิริยาอวดดีลืมตัว ลืมชาติกำเนิดตัวเอง ดูถูกเหยียดหยามสิ่งที่ตัวเองเคยเป็น
  • คาหนังคาเขา ความหมาย: จับได้ในขณะที่กำลังทำผิดหรือพร้อมกับของกลาง หรือจับได้ในขณะที่กำลังทุจริตและพบของกลางอยู่ที่ผู้กระทำผิดหรือจับได้ว่ากระทำผิดโดยมีหลักฐานอยู่ในที่เกิดเหตุ
  • โคแก่ชอบกินหญ้าอ่อน ความหมาย: ชายแก่ชอบหญิงวัยเด็กกว่าเอ๊าะๆ เป็นเมีย มีนิสัยตัณหากลับไม่รู้จักแก่จักหนุ่ม
  • ควันหลง ความหมาย: ผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวการ แต่พลอยถูกกระเส็นกระสายในเรื่องร้ายๆ ที่เขาก่อกันขึ้นไว้เป็นการใหญ่ แล้วพลอยถูกเกาะกุมตัวไปด้วยภายหลัง โดยสำนวนจึงหมายถึงว่าผู้นั้นโดนเอาควันหลงเข้าให้แล้ว
  • คลุกคลีตีโมง ความหมาย: มั่วสุม หรืออยู่ร่วมคลุกคลีพัวพันกันอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา กล่าวคือบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีความเป็นอยู่อย่างอย่างใกล้ชิดสนิทสนมกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ทำร่วมกัน ไปไหนก็ไปด้วยกัน กินก็กินร่วมกัน นอนก็นอนร่วมกัน
  • คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม ความหมาย: คนที่เคยมีอำนาจและวาสนามาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงก็อย่าเพิ่งไปคิดดูถูกเหยียบย่ำเข้า เพราะเขาอาจกลับฟื้นฟูขึ้นอีกได้ ไม่เหมือนไม้ที่ไม่มีชีวิตวางทิ้งไว้จะข้ามจะเหยียบอย่างไรก็ได้
  • คนดีผีคุ้ม ความหมาย: คนทำดีเทวดาย่อมคุ้มครอง คนทำดีเมื่อถึงคราวมีเหตุการณ์คับขัน แม้เทวดาหรือผีสางก็จะมาช่วยปัดเป่า คุ้มครอง มักใช้เข้าคู่กับคนร้ายตายขุมว่า คนดีผีคุ้ม คนร้ายตายขุม

หมวดหมู่ ฆ.

  • ฆ้องปากแตก ความหมาย: คนที่มีนิสัยปากโป้ง เก็บความลับสำคัญๆ เอาไว้ไม่ได้ ชอบนำความลับของคนอื่นไปโพนทะนา
  • ฆ่าควายอย่าเสียดายพริก ความหมาย: ทำการใหญ่ไม่ควรตระหนี่ คนที่จะทำเรื่องที่สำคัญต้องใจถึง รอบคอบ ไม่ขี้เหนียว การทำงานใหญ่ อย่าตระหนี่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องจ่าย ไม่เช่นนั้นอาจเสียการใหญ่ได้

หมวดหมู่ ง.

  • งมเข็มในมหาสมุทร ความหมาย: การค้นหาอะไรบางอย่าง มีบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งยากแก่การค้นหา และแทบจะไม่มีโอกาสที่จะหาเจอเลย
  • เงยหน้าอ้าปาก / ลืมตาอ้าปาก ความหมาย: มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน กล่าวคือผู้ที่เคยมีฐานะยากจนแล้วมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อนๆ พอที่จะเข้าสังคมพูดคุยกับคนอื่นได้
  • ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก ความหมาย: ง่าย สะดวก การกระทำอะไรที่ง่ายมากๆ เปรียบกับการปอกกล้วยเข้าปาก

หมวดหมู่ จ.

  • จับงูข้างหาง ความหมาย: ทำสิ่งที่เสี่ยงต่ออันตราย โบราณท่านเปรียบไว้นักหนาว่าอย่าทำเป็นอันขาด
  • จับปลาสองมือ ความหมาย: คนที่อยากจะได้สองอย่างทีเดียวพร้อมๆ กัน โดยไม่คำนึงว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ เห็นว่าสิ่งโน้นก็ดีสิ่งนี้ก็ดี จึงทำพร้อมกันทั้งสองอย่างโดยไม่คิดว่าตัวเองมีความสามารถพอที่จะทำได้หรือไม่ จนในที่สุดก็ไม่ได้อะไรเลย
  • จับแพะชนแกะ ความหมาย: ทำอย่างขอไปที ไม่ได้อย่างนี้ก็เอาอย่างนั้นเพื่อให้เสร็จๆ ไป การทำการแก้ปัญหาเรื่องราวหนึ่งโดยเร่งด่วนเพื่อให้เหตุการณ์นั้นสามารถผ่านไปได้ก่อน โดยการแก้ปัญหานั้นจะเป็นลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนไม่มีความสมบูรณ์นัก
  • จับเสือมือเปล่า ความหมาย: แสวงหาประโยชน์โดยตัวเองไม่ต้องลงทุน อันหมายความว่าบุคคลที่คาดหวังในผลประโยชน์ที่จะได้รับ โดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ได้เงิน ได้กำไร ได้ทรัพย์สินมีค่า มาโดยไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงินเลย
  • จับปูใส่กระด้ง ความหมาย: ยากที่จะทำให้อยู่นิ่งๆ ได้ มักใช้กับพฤติกรรมของคนที่อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีระเบียบ ซุกชน ทำให้อยู่นิ่งๆได้ยาก ดังนั้นจับปูใส่กระด้งเปรียบเปรยถึงการดูแล จัดการกับคนที่ไม่อยู่นิ่ง ซุกซน
  • ใจดีสู้เสือ ความหมาย: การทำใจกล้า ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย โบราณท่านนิยมใช้อธิบายเมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่น่ากลัวหรือมีอันตราย แต่ก็บังคับใจตัวเองให้สู้ ไม่ให้กลัวจนไม่กล้าทำอะไร
  • จุดไต้ตำตอ ความหมาย: บังเอิญไปพูดหรือทำสิ่งใดกับบุคคลที่เป็นเจ้าของเรื่องนั้นโดยผู้พูดหรือผู้ทำไม่รู้ การพูดการกล่าวถึงหรือนินทาในทางรัายหรือทำอะไรสักอย่างถึงบุคคลอื่น โดยผู้พูดไม่รู้จักคนนั้น ครั้นพอรู้ความจริงเข้า ดีไม่ดีผู้พูดอาจจะเคราะห์ร้ายหรือซวยเข้า
  • โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว ความหมาย: ใช้กล่าวถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้น และทำให้ เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงตามมา โจรปล้นนั้นก็จะสามารถเอาไปได้เพียงเงินทองและทรัพย์สินขนาดเล็กเท่านั้น ไม่สามารถนำตัวบ้านหรือทรัพย์สินขนาดใหญ่ไปได้ แต่ถ้าไฟไหม้ ไฟสามารถเผาผลาญทรัพย์สินได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ แม้กระทั่งตัวบ้าน

หมวดหมู่ ช.

  • ชักใบให้เรือเสีย ความหมาย: พูดหรือทำอะไรขวางๆ ให้การสนทนาหรือการงานเขวออกนอกเรื่องไป การพูดหรือการกระทำที่แสดงออกมาในเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เรื่องในเหตุการณ์นั้นๆ ต้องออกนอกเรื่อง หรือผิดประเด็นออกไปในทางที่ไม่ดี
  • ชักแม่น้ำทั้งห้า ความหมาย: พูดจาหว่านล้อมหรืออ้างเหตุผลต่างๆ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ยกยอคนอื่นว่าเขาดีเลิศ เพื่อเราจะได้สมปรารถนา
  • ชักหน้าไม่ถึงหลัง ความหมาย: มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ขัดสนเพราะรายได้มีไม่พอคุ้มกับรายจ่าย รายได้ที่รับมาเมื่อต้นเดือนไม่พอใช้ไปถึงปลายเดือน
  • ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ ความหมาย: พระสงฆ์ แม่ชีจะประพฤติตัวอย่างไรก็เรื่องของท่าน ท่านก็ได้รับผลกรรมเอง หรือจะเปรียบเปรยว่าปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องตามราว ประมาณว่าช่างหัวมันเถอะ
  • ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม ความหมาย: ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ พิจารณาให้ดี รอบคอบ ไม่รีบร้อน เดี๋ยวจะสัมฤทธิ์ผลสำเร็จด้วยดี
  • ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด ความหมาย: การทำความชั่วหรือความผิด ร้ายแรงซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แม้จะพยายามกลบเกลื่อนปิดบังอย่างไรก็ปิดไม่มิด ต้องมีผู้รู้เข้าจนได้
  • ชี้นกบนปลายไม้ ความหมาย: หวังในสิ่งที่อยู่ไกลตัว มันเป็นไปได้ยาก เป็นการคาดหวังหรือใฝ่ฝันในสิ่งที่อยู่ไกลตัวมาก เกินที่จะเอื้อมถึง
  • ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ความหมาย: การคล้อยตามผู้ที่มีอำนาจมากกว่า โดยที่ทำเพราะกลัวหรือต้องการประจบ ไม่ได้ทำตามเพราะมีความคิด ความเห็น หรือความต้องการที่จะทำในสิ่งนั้น
  • ชุบมือเปิบ ความหมาย: ฉวยเอาผลประโยชน์ของผู้อื่น โดยตัวเองไมได้ลงทุนลงแรง หรือขอมีส่วนร่วมในผลสำเร็จนั้นโดยที่ตนไม่ได้ช่วยลงแรงด้วย

หมวดหมู่ ซ.

หมวดหมู่ ฒ.

  • เฒ่าหัวงู ความหมาย: คนแก่ คนที่มีอายุมากๆ มีบุคลิกชอบเกี้ยวพาราสี มีเล่ห์เหลี่ยมหรือกลอุบายหลอก เด็กสาวคราวลูก ส่อไปในทางกามารมณ์

หมวดหมู่ ด.

  • ดีดลูกคิดรางแก้ว ความหมาย: คิดถึงผลที่จะได้ทางเดียว คิดรอบคอบถี่ถ้วนแต่เล็งถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับอย่างเดียว ไม่ยอมเสียเปรียบใคร
  • เด็ดบัวไม่ไว้ใย ความหมาย: การตัดขาดกัน ตัดญาติขาดมิตร ไม่มีเยื่อใยต่อกัน ไม่มีความสัมพันธ์ ไม่เกี่ยวข้องกันอีก นับตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปทั้งสองฝ่ายจะตัดขาดความสัมพันธ์กันอย่างสิ้นเชิง ไม่สนใจใยดี หรือไม่อินังขังขอบกันอีกต่อไป
  • เด็ดดอกไม้ร่วมต้น ความหมาย: ชาติก่อนเคยทำอะไรร่วมกันมา ชาตินี้จึงมาอยู่ร่วมกันอีก เป็นความเชื่อของคนไทยสมัยก่อน หากคนเราเคยทำบุญร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน จึงทำให้ได้มาเกื้อกูล อยู่ร่วมกันอีกในปัจจุบันนั่นเอง
  • เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ความหมาย: การประพฤติตามอย่างผู้ใหญ่ย่อมสะดวก ปลอดภัย การเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้ที่อาวุโสกว่า รวมถึงการประพฤติปฏิบัติตนตามแบบอย่างที่ดีงามของท่านเหล่านั้น ย่อมนำความปลอดภัยและความเจริญมาสู่ตน

หมวดหมู่ ต.

  • ตกกะไดพลอยโจน ความหมาย: จําเป็นที่จะต้องยอมเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่มีทางเลี่ยง เมื่อพลาดไปแล้วก็ยอมเลยตามเลยเพื่อไม่ให้เสียเชิง และมักจะสื่อไปในทางที่มีผลกระทบไม่ดีเกิดขึ้น
  • ตกม้าตาย ความหมาย: รวดเร็ว, ยุติเร็ว, เรียกเต็มว่า สามเพลงตกม้าตาย นิยมใช้กับการทำอะไรซักอย่างที่เกือบจะประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่มาพลาดพลั้งเอาในช่วงสุดท้าย ทำให้ล้มเหลวไม่เป็นท่า
  • ตักน้ำรดหัวตอ ความหมาย: แนะนำเท่าไร พร่ำสอนเท่าไร ก็ไม่ได้ผล นิยมใช้กับคนที่รับรู้อะไรยาก สอนยากสอนเย็น สอนเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักจำ อาจจะเพราะหัวไม่ดีหรือเพราะความดื้อรั้นไม่ยอมรับรู้
  • ตักบาตรอย่าถามพระ ความหมาย: การจะให้ของสิ่งใดแก่ผู้ที่เขาเต็มใจรับของสิ่งนั้นอยู่แล้ว ไม่ควรถามว่าอยากได้หรือไม่
  • ตัดหางปล่อยวัด ความหมาย: ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป นิยมใช้กับคนไม่สำนึกบุญคุณ ทำดีให้ก็ไม่เห็นค่าขอตัดขาดดีกว่า จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วยกับบุคคลดังกล่าวอีกแล้ว
  • ตาบอดคลำช้าง ความหมาย: คนที่รู้อะไรด้านเดียวหรือนัยเดียว แล้วเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น รู้ไม่จริง หรือรู้ก็รู้ไม่หมด รู้เพียงบางส่วน เมื่อรู้เพียงบางส่วนก็เข้าใจไปเองว่าตนนั้นรู้แจ้ง รู้หมดทุกอย่าง
  • ตาบอดได้แว่น ความหมาย: ผู้ที่ได้สิ่งซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเองเลย มักพูดเข้าคู่กับ หัวล้านได้หวี เป็น “หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น”
  • ตาลยอดด้วน ความหมาย: คนที่หมดหนทาง ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อีก หรือคนที่ไม่มีบุตรไว้สืบตระกูล
  • ตำข้าวสารกรอกหม้อ ความหมาย: การทำงาน/ทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงผ่านๆ ทำให้จบไปครั้งเดียว ไม่มีการวางแผนถึงอนาคต เป็นการเปรียบเปรยว่าเป็นคนเกียจคร้าน ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่วางแผนในอนาคต ทำให้ชีวิตอาจไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร
  • ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ความหมาย: การกระทำที่มีการลงทุนลงแรง หรือลงทรัพย์สินไปจำนวนมากแต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมามีผลเล็กน้อยมากหรือแทบไม่มีประโยชน์ใดๆ เลย
  • ติเรือทั้งโกลน ความหมาย: ตำหนิสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จหรือที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ติพล่อยๆ ไปเสียก่อนที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งๆ ที่งานนั้นเพิ่งเริ่มไปได้ไม่นานหรือทำไปได้เพียงเล็กน้อย
  • ตีงูให้กากิน ความหมาย: ทำสิ่งใดๆ ไว้แล้ว แต่ผลไปตกแก่ผู้อื่น ทำสิ่งที่ตนควรจะได้รับประโยชน์ แต่กลับไม่ได้ กลับต้องปล่อยให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ไป
  • ตีงูให้หลังหัก ความหมาย: กระทำสิ่งใดแก่ศัตรูโดยไม่เด็ดขาดจริงจัง อย่าลังเลทำครึ่งๆ กลางๆ ย่อมจะได้รับผลร้ายในภายหลัง
  • ตีตนก่อนไข้ ความหมาย: เป็นกังวล ทุกข์ร้อน หวาดกลัวในเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ยังไม่เกิดขึ้น
  • ตีนถีบปากกัด / ปากกัดตีนถีบ ความหมาย: ตั้งใจทำมาหากิน มานะพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยาก แม้ว่างานนั้นจะหนักขนาดไหนก็ตาม
  • ตีปลาหน้าไซ ความหมาย: ใช้เปรียบเทียบคำพูดหรือการกระทำซึ่งขัดขวางกิจการที่กำลังดำเนินไปด้วยดีให้หยุดชะงักลง ฉวยโอกาส เอาแต่ประโยชน์ของตนเป็นหลัก ทำอะไรเสียหายไม่คำนึงถึง หรือขัดผลประโยชน์ที่เขาควรมีควรได้อยู่แล้วให้เสียไป
  • ตีวัวกระทบคราด ความหมาย: โกรธคนหนึ่งแต่ทำอะไรเขาไม่ได้ ไพล่ไปรังควานอีกคนหนึ่งที่เกี่ยวข้องและตนสามารถทำได้
  • เตี้ยอุ้มค่อม ความหมาย: คนที่มีฐานะยากจนหรืออยู่ในสถานภาพที่ลำบาก แต่ต้องเป็นภาระเลี้ยงดู ไปคอยช่วยเหลือคนที่มีฐานะเดียวกับตนเอง ทำให้มีสภาพที่ย่ำแย่ไปกว่าเดิม
  • ตาเป็นสับปะรด ความหมาย: คนที่หูตากว้างไกล มีคนคอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้รอบตัว ในที่นี้จะเน้นว่ามีพรรคพวกมาก ใครทำอะไร ที่ไหน จะรู้ไปหมด โดยรู้จากพรรคพวกเพื่อนฝูงหรือบริวารที่มีอยู่ทั่วไปเป็นคนส่งข่าวให้
  • ตีบทแตก ความหมาย: นักแสดงตีบทแตกจนสามารถคว้ารางวัลมาครองได้ หรือแสดงได้แนบเนียนสมจริง แสดงได้แนบเนียนสมบทบาท โบราณท่านใช้คำนี้มาอธิบายคนที่สามารถแสดงออกได้อย่างแนบเนียนจนคนอื่นคล้อยตาม ทั้งดีใจและเสียใจ
  • ต่อความยาว สาวความยืด ความหมาย: มากเรื่องมากราวโต้กันไปโต้กันมา ไม่รู้จักจบจักสิ้นพูดกันไปพูดกันมาจนไม่จบไม่สิ้นเสียที สนทนาเถียงกัน จนเรื่องราวไม่ได้จบลงเสียที
  • ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา ความหมาย: ให้รู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวไว้บ้าง จะทำอะไรให้รู้จักประมาณตน รู้จักฐานะของตัวเอง เจียมเนื้อเจียมตัว อย่ามักใหญ่ใฝ่สูงทำที่อะไรเกินตัว
  • ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ความหมาย: การจะทำการใดๆ พยายามทำด้วยตัวเองอย่างสุดความสามารถ และเพียรพยายาม

หมวดหมู่ ถ.

  • ถอดเขี้ยว ถอดเล็บ ความหมาย: ละพยศ ละความเก่งกาจ เลิกแสดงฤทธิ์ เลิกแสดงฤทธิ์เดชอำนาจอีก
  • ถอยหลังเข้าคลอง ความหมาย: กลับไปทำแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ก้าวหน้าและไม่ทันสมัย ถอยหลังตกต่ำไปจากเดิม ไม่พัฒนาแล้วแถมยังตกต่ำลงเรื่อยๆ
  • ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น ความหมาย: ดูเหมือนละเอียดถี่ถ้วน แต่ไม่ละเอียดถี่ถ้วนจริง หรือรอบคอบถี่ถ้วน แต่รอบคอบไม่จริงสำนวนนี้ยังหมายความว่า ประหยัดในสิ่งที่ไม่ควรประหยัด ไม่ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด
  • ถ่านไฟเก่า ความหมาย: ชายหญิงที่เคยรักใคร่หรือเคยได้เสียกันมาก่อนแม้เลิกร้างกันไป เมื่อมาพบกันใหม่ย่อมรักใคร่หรือปลงใจกันได้ง่ายขึ้น เพราะเคยมีความผูกพันธ์กันมา

หมวดหมู่ ฤ.

  • ฤาษีเลี้ยงลิง ความหมาย: ผู้ที่เลี้ยงเด็กซุกซน หรือปกครองคนหมู่มากที่ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งจะทำให้เกิดความเดือดร้อน

หมวดหมู่ ท.

  • ทำนาออมกล้า ทำปลาออมเกลือ ความหมาย: ทำการสิ่งใด ถ้ากลัวหมดเปลืองย่อมไม่ได้ผลดี ย่อมไม่ได้ผลสมบูรณ์
  • แทรกแผ่นดินหนี ความหมาย: หลีกหนีไปให้พ้น ไม่อยากให้ใครพบหน้าเพราะอับอาย
  • ทุบหม้อข้าวตัวเอง ความหมาย: การกระทำที่ทำให้ตนเองเสียผลประโยชน์หรือได้รับความเสียหาย โดยที่โบราณท่านเทียบไว้ดั่งเป็นการทุบหม้อข้าวของตนเอง ซึ่งส่งผลให้อดข้าว เพราะไม่มีหม้อจะมาหุงหาข้าวปลานั่นเอง
  • ทูตลิ้นทอง ความหมาย: คนที่เป็นนักเจรจา มีคารมในการติดต่อสื่อสาร มีศิลปะไหวพริบในการพูดเป็นเลิศ และส่งผลดีทั้งตนและอีกฝ่าย
  • แทงใจดำ ความหมาย: พูดตรงกับความในใจของผู้ฟัง สำนวนนี้นิยมใช้อธิบายคำพูดที่ตรงกับใจหรือตรงกับความคิดของผู้ฟัง สามารถนำไปใช้ได้ทั้งความหมายในทางดีและทางไม่ดี แต่จะพบเห็นในทางไม่ดีเสียมากกว่า
  • ที่เท่าแมวตาย ความหมาย: โบราณท่านเปรียบไว้กับพื้นที่ขนาดเล็กๆ แปลงหนึ่ง หรือเนื้อที่เพียงเล็กน้อย
  • ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย ความหมาย: การทิ้งทวน ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เป็นครั้งสุดท้าย
  • ทำนาล่าเป็นข้าควาย มีเมียสายเป็นข้าลูก ความหมาย: การทำงานสิ่งใดหากตัดสินใจช้า ลงมือช้า ทำอะไรตามหลังคนอื่นมักจะเสียเปรียบ
  • ทำนาบนหลังคน ความหมาย: การหาประโยชน์จากผู้อื่นโดยใช้วิธีเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบและขาดความมีมนุษยธรรม
  • ท่าดีทีเหลว ความหมาย: มีท่าทางดี แต่ทําอะไรไม่ได้เรื่อง
  • ทางเตียนเวียนลงนรก ทางรกวกขึ้นสวรรค์ ความหมาย: การทำความชั่วนั้นทำได้ง่าย แต่สุดท้ายก็จะส่งผลให้ต้องไปรับกรรมได้รับความลำบาก ส่วนการทำความดีนั้นทำยากกว่าแต่สุดท้ายก็จะได้รับผลดี
  • ทันควัน ความหมาย: ทันทีทันใด ทันเวลา ฉับพลัน
  • ทั้งขึ้นทั้งล่อง ความหมาย: มีความเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ไม่พ้นไปได้ (มักใช้ในทํานองไม่ดี)
  • ทะลุกลางปล้อง ความหมาย: พูดสอดขึ้นมาในเวลาที่เขากําลังพูดกันอยู่
  • ทอดสะพาน ความหมาย: ใช้สื่อสายเข้าไปติดต่อทําความสนิทสนมกับผู้ที่ต้องการคุ้นเคย แสดงกิริยาท่าทางเป็นทํานองอยากติดต่อด้วย
  • ท้องยุ้งพุงกระสอบ ความหมาย: คนที่มีความสามารถในการกินได้มากผิดปกติ คนที่กินจุ
  • ทองแผ่นเดียวกัน ความหมาย: โบราณท่านเปรียบเอาไว้ถึงครอบครัวสองครอบครัวที่มีลูก และลูกของทั้งสองครอบครัวแต่งงานกัน จึงถือเสมือนว่าทั้งสองครอบครัวนี้เกี่ยวดองกัน เป็นทองแผ่นเดียวกัน
  • ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ ความหมาย: คนที่ยึดมั่น ตั้งมั่นในความดี อดทนต่อการพิสูจน์ความจริง ก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรค์หรืออันตรายต่างๆ ได้
  • ทนายหน้าหอ ความหมาย: หัวหน้าคนรับใช้ที่ใช้ออกหน้าออกตา ผู้รับหน้าแทนนาย หรือคนสนิท คนรับใช้ที่รู้ความเป็นไปของนาย มักชอบหน้ารับหน้าแทนนายของตนเอง

หมวดหมู่ น.

  • นกสองหัว ความหมาย: ทำตัวเข้ากับทั้งสองฝ่ายที่เขาไม่ถูกกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
  • นายว่าขี้ข้าพลอย ความหมาย: คนที่เป็นลูกน้อง พลอยพูดผสมโรงติเตียนผู้อื่นตามเจ้านาย เมื่อเจ้านายไม่ชอบใคร ต่อว่าใคร ด่าทอใคร หรือทะเลาะกับใครแล้ว บ่าวไพร่หรือลูกน้องเหล่านี้ก็จะผสมโรงเข้าร่วมด้วยทันที โดยไม่สนถูกผิด สนแต่จะเข้าข้างเจ้านายของตนอย่างเดียว
  • น้ำขึ้นให้รีบตัก ความหมาย: เมื่อมีโอกาสดีๆ หรือเมื่อโอกาสมาถึง ผ่านเข้ามา ให้รีบคว้าโอกาสนั้นเอาไว้ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้เต็มที่ ก่อนที่ช่วงเวลาที่มีโอกาสดีๆ จะผ่านไป
  • น้ำซึมบ่อทราย ความหมาย: สิ่งที่ตักตวงไม่มีวันหมดสิ้น หาได้มาเรื่อยๆ ถึงได้เล็กน้อยแต่ก็ไม่ขาด
  • น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง ความหมาย: คนพูดมาก แต่ได้เนื้อหาสาระน้อย
  • น้ำท่วมปาก ความหมาย: พูดไม่ออกเพราะเกรงจะมีภัยแก่ตนหรือผู้อื่น หรือรู้ความลับของผู้อื่น แต่ไม่กล้าบอกเพราะจะเป็นอันตรายของตัวเอง
  • น้ำลดตอผุด ความหมาย: คนที่ปกปิดการกระทำความผิดหรือสิ่งไม่ดีเอาไว้ เมื่อผู้นั้นตกต่ำหรือหมดอำนาจลง สิ่งไม่ดีที่เคยทำผิดไว้ ก็ถูกเปิดเผยออกมาให้เห็น สำนวนนี้จึงใช้หมายถึงในเวลาที่คนหมดอำนาจ ถ้าทำความชั่วไว้ ความชั่วนั้นก็จะปรากฏขึ้นมา
  • น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ความหมาย: สิ่งทั้งหลายนั้นย่อมต้องพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อประโยชน์แก่กัน
  • น้ำนิ่งไหลลึก ความหมาย: คนที่มีท่าหงิมๆ มักจะมีความคิดลึกซึ้ง ซึ่งก็คือคนที่มีท่าทางเฉยๆ ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น แต่ภายในแล้วเป็นคนช่างคิด มีความคิดดีๆ อยู่เสมอ ฉลาด และเมื่อแสดงความคิดเห็นออกมาครั้งใดก็มักจะเป็นที่ฮือฮาเสมอ เปรียกับคนพูดน้อยต่อยหนัก แต่ทำเยอะ ให้ความสำเร็จมันส่งเสียงออกมาเอง
  • น้ำลึกหยั่งได้ น้ำใจหยั่งยาก ความหมาย: รู้หน้าตาแต่ไม่รู้ข้างในจิตใจว่าคิดดีหรือคิดร้ายอย่างไร
  • ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ความหมาย: ดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนไม่อดอยากปากแห้ง โดยเทียบได้กับในแหล่งน้ำทุกที่มีปลาให้จับเป็นอาหารและในนาก็มีข้าวอุดมสมบูรณ์
  • เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ ความหมาย: ต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งๆ ที่ไม่ได้รับผลประโยชน์อันใดเลย คนที่เข้าไปช่วยเหลือเหตุการณ์บางอย่างโดยไม่ได้ผลประโยชน์ด้วย แต่กลับต้องมารับเคราะห์ในเหตุการณ์นั้นๆ แทนอีก
  • เนื้อถ้อยกระทงความ ความหมาย: ถ้อยคําที่ได้เรื่องได้ราวเข้าใจได้ชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ โดยไม่ต้องทำอะไร หรือชี้แจงอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว

หมวดหมู่ บ.

  • บนข้าวผี ตีข้าวพระ ความหมาย: ร้องขอให้ผีสางเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายช่วยเหลือ โดยจะแก้บนเมื่อได้ดังที่ขอไว้
  • บอกหนังสือสังฆราช ความหมาย: การไปบอก หรือไปสอนคนที่รู้อะไรดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
  • เบี้ยบ้ายรายทาง ความหมาย: เงินที่ต้องใช้จ่าย หรือเสียไปเรื่อยๆ ในขณะทำธุรกิจให้สำเร็จ
  • บวชก่อนเบียด ความหมาย: การบวชเป็นพระเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดาก่อนจึงค่อยแต่งงานหรือออกเรือน โบราณท่านใช้คำๆ นี้ในการสอนใจชายไทยให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องบวชเรียนก่อนถึงค่อยมีคู่ครอง
  • บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น ความหมาย: การรู้จักประนีประนอม ค่อยๆ พูดจากัน ถนอมน้ำใจกันเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาผิดใจ ขุ่นข้องหมองใจกัน

หมวดหมู่ ป.

  • ปลาติดร่างแห (ติดหลังแห) ความหมาย: คนที่ได้รับเคราะห์กรรมร่วมกับผู้อื่นๆ ที่กระทำความผิด ซึ่งตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย หรือคนที่พลอยรับเคราะห์กรรมกับคนอื่น ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนพัวพันด้วย
  • ปลาหมอตายเพราะปาก ความหมาย: คนที่ชอบพูดพล่อยๆ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือพูดแสดงความอวดดี จนตัวเองต้องรับเคราะห์ ก็เพราะปากของตนเอง โบราณท่านจึงเปรียบไว้เหมือนปลาหมอที่ต้องขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ ทำให้ตัวเองได้รับอันตรายหรือถูกจับได้
  • ปลาข้องเดียวกัน ความหมาย: เปรียบเปรยถึงปลาที่อยู่ในข้องเดียวกันหลายๆ ตัว หากมีปลาตัวหนึ่งเน่า มีกลิ่นเหม็น ก็จะทำให้ปลาตัวอื่นๆในข้องมีกลิ่นเหม็นติดไปด้วย บางครั้งจึงพูดว่าปลาเน่าตัวเดียว ทำให้เหม็นไปหมดทั้งข้อง
  • ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ความหมาย: คนที่มีอำนาจหรือกำลังเหนือกว่า ก็จะเอาชนะหรือเอาเปรียบ คนที่มีอำนาจหรือกำลังน้อยกว่าเสมอเป็นทอดๆ ไป
  • ปากปราศรัย ใจเชือดคอ ความหมาย: คนที่ไม่มีความจริงใจกับใคร ปากว่าอีกอย่างแต่ในใจคิดอีกอย่างตรงข้ามกัน ในทางที่ไม่ดีใช้วาจาที่เปล่งออกมาดูดี มีเหตุผล น่าฟัง แต่ว่าความจริงแล้วคิดตรงข้ามกับที่พูดคือ เป็นคนที่คิดร้าย
  • ปากว่าตาขยิบ ความหมาย: พูดอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง ปากกับใจไม่ตรงกัน มักใช้ในทำนองที่ไม่ดีเสียมากกว่า
  • ปากหวานก้นเปรี้ยว ความหมาย: พูดจาอ่อนหวานแต่ไม่จริงใจ มักใช้กับคนที่ต่อหน้าพูดจาดี ไพเราะ อ่อนหวาน เป็นวาจาที่ซ่อนเร้นความหมายและความต้องการอย่างอื่นอยู่ด้วย แต่ความจริงกลับไม่มีความจริงใจ
  • ปากคนยาวกว่าปากกา ความหมาย: คนเรานั้นสามารถพูดนินทา หรือพูดให้เรื่องราวต่างๆแพร่กระจายไปได้ไกล สำนวนนี้ใช้ในเชิงนินทาว่าร้าย หรือกล่าวในเชิงลบ
  • ปิดทองหลังพระ ความหมาย: ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง เพราะไม่มีใครเห็นคุณค่า หรือไม่มีใครรู้ หรืออาจจะใช้ในประโยคทำนองพ้อว่าทำดีแล้วไม่มีใครรู้
  • ไปไหนมา สามวาสองศอก ความหมาย: ถามอย่างหนึ่ง ตอบไปอีกอย่างหนึ่ง การพูดหรือตอบคำถามไม่ตรงคำถาม
  • ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ ความหมาย: การปล่อยศัตรูไปอาจกลับมาทำร้ายภายหลังอีก หรือปล่อยศัตรูที่เราจับตัวมาได้กลับไปสู่อิสรภาพ หรือปล่อยคืนถิ่นเดิมของคนๆ นั้น ซึ่งทำให้คนผู้นั้นจะกลับมามีพลังอำนาจเหมือนดั่งเคย ซึ่งถ้าจะปราบหรือจับอีกครั้งก็อาจจะทำไม่ได้อีก
  • ปั้นน้ำให้เป็นตัว ความหมาย: แต่งเรื่องหรือสร้างเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงให้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้ สร้างเรื่องเท็จให้เห็นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา
  • ปีกกล้าขาแข็ง ความหมาย: พึ่งตนเองได้ แต่ใช้ในบริบทตำหนิติเตียนผู้น้อยว่าพอพึ่งตัวเองได้ก็จากไป นิยมนำมาใช้ในความหมายเชิงลบหรือเชิงตำหนิติเตียนทำนองโตแล้ว เก่งแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นแล้ว จึงเกิดอาการหยิ่งผยอง ไม่ยอมรับคำแนะนำหรือคำติเตียนจากผู้ใหญ่หรือผู้รู้คนอื่น

หมวดหมู่ ผ.

  • ผัวหาบ เมียคอน ความหมาย: ช่วยกันทำมาหากินทั้งผัวและเมีย ด้วยการทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยกันสร้างฐานะให้มั่นคง ซึ่งจะทำให้ชีวิตไม่ขัดสน
  • ผักชีโรยหน้า ความหมาย: การทำความดีเพียงผิวเผิน ไม่ได้ทำดีอย่างจริงจังเป็นประจำ หรือสม่ำเสมอ จะทำดีเฉพาะหน้าหรือเวลามีคนมาตรวจ มาเยี่ยม ส่วนมักใช้จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี
  • ผีซ้ำด้ำพลอย ความหมาย: ถูกซ้ำเดิมเมื่อถึงคราวเคราห์ร้ายหรือพลาดพลั้ง หรือเมื่อมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ก็มีเรื่องราวหรือปัญหาเข้ามาเพิ่มซ้ำเติมให้หนักกว่าเดิมอีก
  • ผีถึงป่าช้า ความหมาย: ภาวะจำยอม ต้องยอมทำเพราะความจำใจไม่มีทางเลือก หรือไม่เต็มใจแต่ก็ต้องทำ

หมวดหมู่ ฝ.

  • ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ความหมาย: ให้หรือแจกจ่ายอะไรไม่ทั่วถึงกัน ซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องยาก เพราะผู้คนก็มีมาก อย่างเวลาที่เกิดปัญหาบางอย่าง ภัยธรรมชาติ หรือเหตุร้ายต่างๆ แต่บางทีการช่วยเหลือนั้นก็มุ่ง ช่วยเหลือคนเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น
  • ฝนทั่งให้เป็นเข็ม ความหมาย: มีความเพียรพยายามสุดความสามารถจนกว่าจะสำเร็จผล ประสบความสำเร็จได้
  • ฝากปลาไว้กับแมว ความหมาย: การที่เราฝากสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้กับคนที่ชอบสิ่งนั้น ย่อมสูญหายได้ง่าย หรือถ้าเราไว้วางใจคนที่ไม่ควรไว้วางใจก็มีโอกาสที่จะผิดหวัง หรื มีโอกาสที่จะสูญเสียสิ่งของต่างๆ ได้

หมวดหมู่ พ.

  • พบไม้งามเมื่อขวานบิ่น ความหมาย: ชายที่แก่ชรา หรือชายที่มีครอบครัวแล้ว มาพบหญิงสาวที่ถูกใจ ก็หมดปัญญาที่จะเกี้ยวพามาเป็นภรรยาได้ เพราะตนเองมีครอบครัวแล้ว หรือ ไร้สมรรถภาพไปซะแล้ว หรือพูดง่ายๆ ว่าเจอกันช้าไป
  • พออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ความหมาย: รู้ทันในที่นี้หมายถึงรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรอยู่ และกำลังจะพูดอะไรออกมาเรียกได้ว่ารู้จักอีกฝ่ายเป็นอย่างดีว่าตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างไร ไม่ว่าอีกฝ่ายกำลังจะคิด หรือจะทำอะไรอยู่นั้นก็จะสามารถเดาได้ และมักจะตรงด้วย
  • พูดเป็นต่อยหอย ความหมาย: พูดฉอดๆ ไม่หยุดปาก มักจะใช้กับคนที่เม้าท์มอยเก่งๆ พูดมาก
  • พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ความหมาย: คำพูดบางครั้งหากพูดออกไปอาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อตนเองหรือคนรอบข้าง หากอยู่เฉยๆ ไม่พูดอะไรออกไปยังจะก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า

หมวดหมู่ ฟ.

  • ฟังหูไว้หู ความหมาย: การรับฟังเรื่องราวต่างๆ แต่ไม่เชื่อทั้งหมดในทันที แต่รับฟังไว้ก่อนแล้วจึงพิจารณาในภายหลังว่าสิ่งนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
  • ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ความหมาย: การรื้อฟื้นเอาเรื่องเก่าๆ ที่ผ่านไปแล้วขึ้นมาพูดอีกให้เป็นที่สะเทือนใจ เสียใจ ลำบากใจ หรือกล่าวได้ว่าเป็นการคุ้ยเขี่ยเอาเรื่องที่สงบแล้วให้กลับมาเป็นเรื่องอีกนั่นเอง

หมวดหมู่ ม.

  • มะนาวไม่มีน้ำ ความหมาย: ลักษณะการพูดที่พูดห้วนๆ ไม่ไพเราะ ไม่น่าฟัง พูดจาแข็งกระด้างไม่มีความนุ่มนวล หรือพูดตรงไปตรงมาจนคนฟังอาจจะรับไม่ได้
  • มะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก ความหมาย: คนที่พูดจาตลบตะแลง กลับกลอก เอาตัวรอดเก่ง รู้จักใช้คำพูดพลิกแพลงเอาตัวรอด จนคนฟังไม่สามารถจับคำพูดได้ทัน เป็นคนปลิ้นปล้อน กะล่อน ไม่มีความจริงใจกับใคร
  • มากหมอมากความ ความหมาย: มากคนก็มากเรื่อง วุ่นวาย ต่างคนต่างก็ถือความคิดตัวเอง
  • มาเหนือเมฆ ความหมาย: มีความคิดหรือชั้นเชิงเหนือผู้อื่นมาหรือปรากฏขึ้นโดยไม่คาดหมาย คาดไม่ถึง มักใช้เปรียบเปรยถึงคนนิ่งๆ ที่มีสติปัญญา ความคิดเฉียบแหลม
  • ม้าดีดกระโหลก ความหมาย: ผู้หญิงทื่มีกิริยากระโดกกระเดก ไม่มีความเรียบร้อย ไม่สำรวม สำนวนนี้มักใช้ตำหนิผู้หญิง
  • มือถือสาก ปากถือศีล ความหมาย: แสดงตัวให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่ตนเองกลับประพฤติชั่วเสียเอง หรือคนที่ภายนอกดูประพฤติตนเป็นคนดีมีคุณธรรม แต่การกระทำกลับตรงกันข้าม
  • มือห่างตีนห่าง ความหมาย: บุคคลที่ชอบทำอะไรอย่างสุรุ่ยสุร่าย หรือเลินเล่อ สะเพร่า ไม่ระมัดระวังอะไรเลย
  • มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ความหมาย: คนที่ไม่ช่วยหลืองานส่วนรวม ไม่ให้ความร่วมมือ แล้วยังทำตัวเกะกะ ขัดขวางการทำงานของผู้อื่น จนทำให้การทำงานนั้นยากขึ้นไปอีก
  • ไม่ดูตาม้าตาเรือ ความหมาย: สะเพร่า, ไม่ระมัดระวัง ไม่พิจารณารอบคอบดูให้ดี ทำไปโดยประมาท ทำให้ทำอะไรผิดพลาดหรือเกิดความเสียหายโดยไม่น่าจะเป็น
  • ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน ความหมาย: คนที่ไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้ว่าบ้านช่องอยู่ไหน เป็นลูกหลานใคร ไม่รู้จักพื้นเพ
  • ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ ความหมาย: การที่เตรียมพร้อมเตรียมตัวล่วงหน้ามากจนเกินไป ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นยังมีโอกาสเกิดน้อย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ต้องเสียเวลาเสียแรงเปล่าโดยไม่จำเป็น
  • ไม้ใกล้ฝั่ง ความหมาย: คนแก่ที่ชรามากแล้ว ใกล้จะตาย อยู่ได้อีกไม่นาน ผ่านอะไรมามาก และไม่สามารถทำอะไรได้มากแล้ว ใกล้ถึงจุดจบของตน
  • ไม้หลักปักเลน ความหมาย: ใช้เปรียบกับผู้ใหญ่ที่ยึดถือเป็นหลักเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะเป็นคนโลเล ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน
  • ไม่ได้ด้วยเล่ห์ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ต้องเอาด้วยคาถา ความหมาย: ผู้ที่จะเอาชนะคู่แข่งให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด คือถ้าทำวิธีแรกไม่สำเร็จ ก็จะหาพยายามใช้วิธีที่สอง ถ้าวิธีที่สองไม่ได้อีก ก็จะหาทางอื่นๆ เพื่อให้สำเร็จให้ได้ สํานวนนี้จะใช้กับการกระทำที่มีลักษณะไม่ซื่อ หรือการกระทำด้วยวิธีที่ไม่ดี
  • ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ความหมาย: การอบรมสั่งสอนเด็กหรือคนอายุน้อย ย่อมง่ายกว่าการสั่งสอนอบรมคนที่มีอายุมากแล้ว
  • มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท ความหมาย: การรู้จักเก็บหอมรอมริบ ค่อยเก็บสะสมเงินที่ละเล็กทีละน้อย เผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย โบราณท่านใช้เพื่อสอนให้เรามีความมัธยัสถ์ รู้จักอดออม ค่อยๆ เก็บสะสมเงินทองไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็มีมากไปเอง ให้รู้จักเก็บเงินเก็บทองแบบค่อยเป็นค่อยไป

หมวดหมู่ ย.

  • ยกตนข่มท่าน ความหมาย: การแสดงออกในเชิงโอ้อวด ยกย่องตัวเองและข่มผู้อื่น พูดจาทับถม ดูหมิ่นผู้อื่นให้เห็นว่าตนเองเหนือกว่า อยู่สูงกว่าผู้อื่น
  • ยกภูเขาออกจากอก ความหมาย: ปัญหาหรือเรื่องราวทุกข์ใจที่เกิดขึ้นนั้นได้ถูกแก้ไขได้แล้ว หรือเรื่องคอขาดบาดตายแต่รอดมาได้ หรือไม่ได้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง ชีวิตไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ไม่มีเรื่องหนักอก หนักใจอะไรอีกต่อไปแล้ว
  • ยกเมฆ ความหมาย: การคาดเดา การนึกเอาเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เอาเรื่องบางเรื่องหรือเหตุการณ์ที่ไม่มีมูลความจริงมาเป็นข้ออ้าง
  • ยื่นแก้วให้วานร ความหมาย: การให้ของที่ดีหรือของที่มีคุณค่ามาก กับคนที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งเหล่านั้น หรือแม้ว่าจะรู้จักคุณค่าของมันแต่ก็ใช้ไม่เป็น ทำให้ของสิ่งนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้รับเลย ให้ไปก็เปล่าประโยชน์
  • ยื่นหมูยื่นแมว ความหมาย: การแลกเปลี่ยนกันโดยต่างฝ่ายต่างให้และรับในเวลาเดียวกัน นิยมใช้เพื่อสื่อความหมายว่า ทั้งสองฝ่ายต้องแลกเปลี่ยนของ หรือทำตามข้อตกลงพร้อมๆ กันทั้งสองฝ่าย ไม่มีการเอาเปรียบกัน
  • ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ความหมาย: การต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อให้ตนเองนั้นอยู่รอดต่อไปได้ หรือให้ผู้อื่นทำงานแทนตนแต่ก็มักได้งานไม่ดีเท่าที่ตนทำเอง แต่หากผู้ที่ช่วยนั้นหยุดการช่วยเหลือ จะทำให้คนนั้นต้องประสบปัญหาเข้าขั้นวิกฤติได้
  • ย้อมแม้วขาย ความหมาย: ตกแต่งคนหรือของที่ไม่ดีโดยมีเจตนาจะหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าดี
  • ยุ่งเหมือนยุงตีกัน ความหมาย: สิ่งที่ยุ่งเหยิง วุ่นวาย สับสนปนเปกัน มักใช้กับคนที่ทำอะไรวุ่นวายนั้นจะสร้างปัญหามากกว่า

หมวดหมู่ ร.

  • รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ความหมาย: หากต้องการมีความรักอยู่ด้วยกันนานๆ ก็ให้รู้จักอภัยในสิ่งที่ผิดพลาด ไม่โกรธเคืองกัน แต่หากไม่สามารถตัดความโกรธเคืองและให้อภัยได้ก็อาจจะรักกันได้ไม่นาน
  • รักพี่เสียดายน้อง ความหมาย: ความลังเลไม่แน่ใจ ความไม่ปลงใจเลือก อันเนื่องมาจากพอใจในของทั้งสองสิ่ง จนไม่สามารถตัดสินใจเลือกได้
  • รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ความหมาย: การอบรมสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือน หรือลงโทษลูก เมื่อลูกได้กระทำความผิด หรือทำในสิ่งไม่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกได้รับรู้ จดจำว่าสิ่งนั้นไม่ดี และจะไม่ควรจะทำอีก
  • รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา ความหมาย: ผู้ที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ทำแต่สิ่งดีงาม ก็จะพบกับความสุข ความเจริญในหน้าที่การงาน และในทางตรงกันข้ามผู้ใดไม่ขยันศึกษาเล่าเรียน ทำแต่สิ่งชั่วร้าย ก็จะพบเจอกับความยากลำบาก หาความเจริญมิได้
  • รีดเลือดกับปู ความหมาย: การบังคับขู่เข็ญเพื่อเอาผลประโยชน์กับผู้ที่ไม่มีความสามารถที่จะให้สิ่งที่ต้องการได้ เช่น การรีดไถเงินจากคนที่มีความยากจน
  • รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ความหมาย: การกระทำใดๆ ของตนที่ได้ผลออกมาไม่ดี แต่กลับโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่น แทนที่จะโทษตัวเอง
  • รกคนดีกว่ารกหญ้า ความหมาย: รกคนยังพอใช้ประโยชน์ได้บ้างแต่รกหญ้าไม่มีประโยชน์ การที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรเสียก็จะยังมีประโยชน์มากกว่าการมีแต่หญ้าซึ่งไร้ประโยชน์
  • รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ความหมาย: เรียนรู้ไว้ไม่หนักเรี่ยวหนักแรงหรือเสียหายอะไร การศึกษาหาความรู้ไว้ ยิ่งมากยิ่งดี เพราะการมีความรู้มาก ไม่เหมือนการแบกข้าวแบกของ ซึ่งจะรู้สึกว่าหนักบ่า มีความรู้มิได้หนักบ่าหนักแรงอะไร ความรู้ที่เวลานี้เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ วันหน้าอาจเห็นคุณค่าของมันก็ได้
  • เรียนผูกต้องเรียนแก้ ความหมาย: รู้วิธีทําก็ต้องรู้วิธีแก้ไข รู้กลอุบายทุกทางทั้งทางก่อและทางแก้ ถ้าสร้างปัญหาอะไรขึ้นมาก็ต้องรู้จักวิธีแก้ปัญหานั้นเองด้วย

หมวดหมู่ ล.

  • ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ความหมาย: ดีแต่พูด แต่ทำไม่ได้ หรือผู้ที่พูดว่าทำสิ่งนั้นๆ ได้โดยง่าย ดูง่ายไปเสียหมด แต่พอเวลาทำจริงกลับทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ได้
  • ลางเนื้อชอบลางยา ความหมาย: ของสิ่งเดียวกันคนหนึ่งชอบ แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ บางสิ่งบางอย่างใช้ได้กับบางคนแต่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนเสมอไป หรือของสิ่งเดียวกันแต่ละคนจะชอบของสิ่งนี้มากน้อยไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนมีรสนิยมแตกต่างกัน
  • ลูกขุนพลอยพยัก ความหมาย: ผู้ที่คอยว่าตามหรือเห็นด้วยกับผู้ใหญ่เป็นเชิงประจบสอพลอผู้น้อยคอยตามผู้ใหญ่
  • ลูกผีลูกคน ความหมาย: หวังเป็นที่แน่นอนยังไม่ได้ มักใช้ในกรณีสำคัญๆ ที่จะต้องลุ้นว่าจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถวางใจได้
  • ลูกไก่ในกำมือ ความหมาย: คนที่มีอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งสูงกว่าคนที่อยู่ใต้อำนาจ จะทำอย่างไรกับคนที่อยู่ใต้อำนาจของตนก็ได้ตามต้องการ
  • ลูบหน้าปะจมูก ความหมาย: ทำอะไรเด็ดขาดจริงจังลงไปไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะไปกระทบกระเทือนพวกพ้องของตน จึงนำมาใช้กับพฤติกรรมของผู้มีหน้าที่ต้องลงโทษหรือเอาผิดกับพวกพ้องของตน จึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงหรือให้มีผลกระทบกับพวกพ้องให้น้อยที่สุด
  • เล่นเอาเถิดเจ้าล่อ ความหมาย: อาการที่หลบไปมาเพื่อไม่ให้พบ การหลบกันไปหลบกันมาเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะพบกัน ใช้ในการเปรียบเปรยถึงการพยายามที่จะหลบไปหลบมา ซ้ายทีขวาที เพื่อที่จะหลีกหนี หรือไม่ต้องการเผชิญหน้ากับใครบางคนแบบตรงๆ โดยพยายามเลี่ยงการประจันหน้านั่นเอง
  • เล่นกับหมา หมาเลียปาก ความหมาย: การลดตัวลงไป หรือวางตัวไม่เหมาะสมจึงถูกลามปาม กล่าวคือถ้าวางตัวไม่เหมาะสมโดยลดตัวลงไปตีเสมอกับบุคคลที่ต่ำชั้นกว่า อาจจะถูกบุคคลเหล่านั้นละลาบละล้วงลามปามได้ มักใช้เข้าคู่กับ เล่นกับสาก สากต่อยหัว
  • เลือดข้นกว่าน้ำ ความหมาย: เครือญาติย่อมดีกว่าคนนอก ญาติพี่น้องนั้นสำคัญกว่าคนอื่น โดยเราจะสามารถไว้ใจ หรือเชื่อใจญาติพี่น้องได้มากกว่าคนอื่นๆ ที่เราไม่รู้จัก เพราะว่าเราและพี่น้องของเราอย่างน้อยก็มีความเกี่ยวพันทางสายเลือด
  • ลื่นเหมือนปลาไหล ความหมาย: คนที่มีพฤติกรรมที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทันเป็นคนนิสัยตลบแตลงกะล่อน พูดจาเลี้ยวลดพริ้วไปพริ้วมา ยากที่จะจับให้มั่นคั้นให้ตาย แม้จะจับได้ว่าพูดไม่จริงแต่ก็ก็ยังหาข้อแก้ตัวดิ้นหลุดเอาตัวรอดไปอย่างสบายตามเคย
  • ล้วงคองูเห่า ความหมาย: การบังอาญไปกล้าลองดีท้าทายกับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตน ซึ่งสามารถทำอันตรายร้ายแรงแก่ตนได้ ในสำนวนนี้หมายถึงไปลักขโมยสิ่งมีค่าจากผู้มีอำนาจ
  • ลิงหลอกเจ้า ความหมาย: กิริยาล้อเลียนผู้ใหญ่เมื่อผู้ใหญ่เผลอ สำนวนนี้แทนความหมายที่เด็กหรือผู้น้อยที่มักจะแสดงกิริยาสุภาพอ่อนน้อมเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโส แต่จะแสดงอาการลิงโลด ล้อเลียน หรืออาการไม่สุภาพเมื่อลับหลัง
  • เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ ความหมาย: เปรียบคนที่เป็นลูกของศัตรูหรือลูกของคนเลวซึ่งมักจะไว้ใจไม่ได้ จะแว้งกลับมาทำร้ายเอาได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจใช้เรียกลูกคนอื่นที่เอามาเลี้ยงไว้แล้วกลับอกตัญญูทำร้ายคนเลี้ยง หรือทำความเดือดร้อนให้คนเลี้ยง

หมวดหมู่ ว.

  • วัวใครเข้าคอกคนนั้น ความหมาย: กรรมที่มีผู้ใดทําไว้ย่อมส่งผลให้แก่ผู้นั้น ดุจวัวที่กลับเข้าคอกของมันเอง
  • วัวหายล้อมคอก ความหมาย: เหตุการณ์ที่เสียหายเกิดขึ้นมาแล้ว ถึงจะมาคิดหาวิธีแแก้ไขป้องกันภายหลัง ซึ่งที่ถูกควรจะคิดหาทางป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นแต่แรก
  • วัวเคยขาม้าเคยขี่ ความหมาย: คนที่เคยคุ้นกันมาอย่างดี รู้ใจกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่วนมากมักจะนิยมใช้กับคนที่เคยเป็นคู่สามีภรรยากัน หรือชายหญิงที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อนแล้ว ซึ่งมักจะเข้าใจความต้องการของอีกฝ่ายได้เป็นอย่างดี
  • วัวลืมตีน ความหมาย: คนที่ได้ดีแล้วลืมกำพืดตน คนที่ฐานะดีแล้วลืมตัว คนที่เมื่อก่อนเคยยากจน แต่ต่อมามีฐานะดีขึ้น และลืมฐานะลืมตัวตนที่เคยเป็นมา มักใช้ในลักษณะ พูดถึงคนที่มีฐานะดีแล้ว มีความเย่อหยิ่งลืมตัวว่าเคยยากจนมาก่อน อวดร่ำอวดรวย
  • ว่ายน้ำหาจระเข้ ความหมาย: เอาตัวเข้าเสี่ยงเข้าพบทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเป็นอันตราย หรือรนหาที่ ทั้งๆที่รู้ว่าจะมีอันตรายก็ยังเสี่ยงที่จะเข้าไป
  • วัดรอยเท้า, วัดรอยตีน ความหมาย: การคิดเทียบชั้นผู้ที่เหนือกว่า การวัดหรือเทียบความสามารถของตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าหรือผู้มีพระคุณ เพื่อชิงดีชิงเด่น แสดงตนว่าเหนือกว่า ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความอกตัญญู

หมวดหมู่ ศ.

  • ศรศิลป์ไม่กินกัน ความหมาย: แต่เดิมหมายความว่าทำร้ายกันไม่ได้ แต่ต่อมากลายความหมายไป หมายถึงการที่คนสองฝ่ายไม่ถูกกันไม่ลงรอยกัน
  • ศิษย์คิดล้างครู ความหมาย: ศิษย์เนรคุณ ศิษย์ที่คิดไม่ดีต่อครูบาอาจารย์ จ้องแต่จะทำลายล้างครูบาอาจารย์ และมีการกระทำต่างๆ ที่ส่อไปในทางเป็นปรปักษ์ ต่อต้าน

หมวดหมู่ ส.

  • สร้างวิมานในอากาศ ความหมาย: การวาดฝันไว้ล่วงหน้าว่าในอนาคตจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ใฝ่ฝันถึงความมั่งมี เป็นใหญ่ คิดคาดหรือหวังจะมีหรือเป็นอะไรอย่างเลิศลอย
  • สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ความหมาย: จิตใจคนเรานั้นเป็นสำคัญ จะสุขหรือจะทุกข์ก็ขึ้นกับความคิดและทัศนคติของตัวเราเอง ที่เป็นผู้กำหนดเลือก หากตัวเราคิดทางบวก ไม่มุ่งร้ายผู้ใด จิตใจมีเมตตา ก็จะเกิดสุข แต่ถ้าหากคิดทางลบก็จะเป็นทุกข์ มีความกังวลใจ ไม่เป็นสุข เหมือนตกนรก
  • สองฝักสองฝ่าย ความหมาย: คนที่ทําตัวเข้าด้วยทั้งสองข้าง ซึ่งมักไม่เป็นมิตรกันโดยหวังประโยชน์เพื่อตน
  • สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ ความหมาย: สอนสิ่งที่เขารู้ดีหรือที่เขาถนัดอยู่แล้ว ทำได้ดีทำได้เก่งอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องไปสอนเขาอีก โดยสำนวนนี้มักจะสื่อถึงเรื่องที่ไม่ดีเป็นหลัก
  • สาวไส้ให้กากิน เอาความลับของตน ความหมาย: การนำความลับหรือเรื่องเลวร้ายไปบอกให้คนอื่นรู้ ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ให้กับใคร แต่ผู้ที่ได้รับฟังกลับได้ล่วงรู้ความลับต่างๆ สำนวนนี้มักจะใช้สื่อถึงการบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ดี และมักจะมีคู่กรณีที่ต่างคนต่างแฉกันและกัน
  • สิ้นไร้ไม้ตอก ความหมาย: ยากไร้ ขัดสนถึงที่สุด หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ยากจนทรัพย์สินแม้แต่ไม้ตอกซึ่งมีราคาถูกก็ไม่มีติดตัว นอกจากนี้ยังแฝงความหมายเอาไว้อีกว่ายากจนแสนสาหัส ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง
  • สิบเบี้ยใกล้มือ ความหมาย: สิ่งที่อยู่ใกล้เป็นสิ่งที่ควรจะได้ แม้จะมีค่าน้อยแต่ได้แน่ๆ ก็ควรคว้าเอาไว้ก่อน ดีกว่าไปหวังสิ่งที่ใหญ่กว่าแต่ไม่แน่นอนว่าจะได้หรือไม่
  • สุกเอาเผากิน ความหมาย: ทำแค่ให้เสร็จๆ ให้พ้นๆ ไป ทำอย่างลวกๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่ออกมาว่าดีหรือไม่ ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่งๆ กล่าวคือการกระทำอะไรแบบลวกๆ ชุ่ยๆ พอให้ผ่านไป ขาดความตั้งใจในการทำ ไม่มีความประณีตเลย
  • เส้นผมบังภูเขา ความหมาย: เรื่องที่ง่ายๆ แต่คิดไม่ออก โดยคิดว่าเป็นเรื่องยากลำบาก ทำให้ต้องเสียเวลาคิดค้นหาแนวทางวิธีแก้ไขต่างๆ มากมายเกือบตาย แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่มีปัญหาติดขัดอยู่นิดเดียวซึ่งมองข้ามเลยไป ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เสียเวลาคิดไปตั้งนาน ทั้งๆ ที่วิธีแก้ปัญหานั้นง่ายนิดเดียว
  • สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ความหมาย: ผู้ที่มีความปราดเปรื่องหรือเก่งกาจสามารถ ก็ยังมีผิดพลาดได้ ไม่ใช่ว่าจะทำการใดๆ ได้สำเร็จลุล่วงทุกครั้งเสมอไป
  • สมภารกินไก่วัด ความหมาย: ผู้ชายที่อยู่ในฐานะหัวหน้าหรือผู้ปกครอง โดยที่มีผู้หญิงอยู่ภายใต้ปกครองอยู่ด้วย ผู้ชายคนนั้นก็ใช้อำนาจของตนในการทำให้ผู้หญิงนั้นตกเป็นภรรยาหรือคู่นอนของตนเอง

หมวดหมู่ ห.

  • หงิมๆ หยิบชิ้นปลามัน ความหมาย: คนที่มีท่าทางหงิมๆ สงบเสี่ยมเจียมตัว ไม่ช่างพูดไม่ช่างคุย ดูเหมือนคนซื่อๆ แต่ความจริงแล้วมักจะเป็นประเภทคมในฝัก จะทำอะไรก็มักจะมีอำนาจในการจำแนก จะเลือกแต่สิ่งดีๆ ก่อนคนอื่นเขา หรือมีการคิดวางแผนที่ลุ่มลึกอยู่ในใจ ที่พร้อมจะลงมือทำได้ทันทีเมื่อได้โอกาส
  • หญ้าปากคอก ความหมาย: เรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรยุ่งยาก, สิ่งง่ายๆ แต่กลับคิดไม่ถึง หรือเรื่องที่เราคุ้นอยู่ใกล้ตัวจนมองข้ามความสำคัญไป ไม่พิจารณาให้ดี
  • หนังหน้าไฟ ความหมาย: ผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น หรือผู้ที่คอยขันอาสารับหน้า รับความลำบาก หรือเป็นตัวแทนรับเรื่องราว(ค่อนข้างไม่ดี) ก่อนผู้อื่นเป็นคนแรก
  • หน้าเนื้อใจเสือ ความหมาย: บุคคลที่มีหน้าตาแสดงความเมตตาปรานี แต่จิตใจเหี้ยมโหดคิดอาฆาตมาดร้ายตลอดเวลา
  • หน้าซื่อใจคด ความหมาย: มีสีหน้าดูซื่อๆ แต่มีนิสัยคดโกง, เสแสร้งเป็นทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็น หรือคนหน้าตาดูดี ดูซื่อๆ ไม่มีพิษ ไม่มีภัย แต่ภายในใจกลับตรงกันข้าม
  • หน้าสิ่วหน้าขวาน ความหมาย: อยู่ในระยะอันตรายเพราะอีกฝ่ายหนึ่งกําลังโกรธหรือมีเหตุการณ์วิกฤต หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
  • หนามยอกเอาหนามบ่ง ความหมาย: การตอบโต้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน หรือการตอบโต้ฝ่ายที่ตรงข้ามเรา ด้วยวิธีการเดียวกันกับที่เขาทำกับเรา
  • หมาในรางหญ้า ความหมาย: ผู้ที่หวงในสิ่งที่ตนไม่ได้ใช้ประโยชน์ เปรียบเปรยถึงคนที่มีนิสัยพาล มักขัดขวางให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสมอ
  • หมาสองราง ความหมาย: เปรียบเปรยถึงคนที่ทำตัวเข้าทั้งสองฝ่ายที่ไม่ถูกกัน หรือเป็นศัตรูกัน โดยหวังประโยชน์เพื่อตน
  • หยิกเล็บเจ็บเนื้อ ความหมาย: เมื่อกระทำความเดือดร้อนให้แก่คนใกล้ชิดก็จะมีผลกระทบถึงตัวผู้กระทำ หรือคนในพวกเดียวกันด้วย กล่าวคือถ้าเราได้กระทำความเดือดร้อนให้แก่คนที่สนิทชิดเชื้อ หรือใกล้ชิดกับเรา มันก็จะมีผลกระทบมาถึงตัวเราเอง หรือคนในพวกกลุ่มเดียวกันกับเราด้วย
  • หอกข้างแคร่ ความหมาย: คนใกล้ชิดที่จะคอยทำร้ายเมื่อใดก็ได้ หรือศัตรูอยู่ข้างตัว
  • หักด้ามพร้าด้วยเข่า ความหมาย: หักโหมเอาด้วยกําลัง ใช้อํานาจบังคับเอา การทำอะไรโดยใช้กำลังรุนแรง หรือการใช้อำนาจบังคับให้ได้มาโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น
  • หัวแก้วหัวแหวน ความหมาย: สิ่งเป็นที่รักใคร่เอ็นดูมาก เป็นที่โปรดปรานมาก มักใช้กับคนที่เรารักใคร่เอ็นดู และโปรดปรานมากๆ ว่าเปรียบเสมือนดั่งเป็นหัวแก้วหัวแหวนของเรา
  • หัวมังกุท้ายมังกร ความหมาย: ไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน ขัดกันในตัว ทรวดทรงเรือนร่างต่างลักษณะไม่กลมกลืนกันตามที่ควรเป็น มีหลายอย่างปนเปกันจนหมดงาม
  • หัวหลักหัวตอ ความหมาย: ถูกมองข้ามในบางเรื่องว่าไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น บุคคลที่นึกว่าตนเป็นคนสำคัญแต่คนอื่นมองข้ามไป เวลาทำงานสำคัญก็ไม่ปรึกษา (มักใช้ในลักษณะแสดงความน้อยอกน้อยใจ)
  • หัวล้านได้หวี ความหมาย: การได้สิ่งของ ที่ไม่มีประโยชน์ต่อตนเองเลย เหมือนหัวล้านได้หวี เส้นผมก็ไม่มีได้หวีมาก็ไม่รู้จะใช้ประโยชน์อย่างไร ของที่ได้มานั้น บางทีหรือบางคนก็ให้มา โดยลืมคิดไปว่าผู้รับไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้
  • เหยียบเรือสองแคม ความหมาย: ทําทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย อยู่กับฝ่ายไหน ก็เห็นด้วยหรือแสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายนั้น โดยตักตวงประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายอย่างไม่บริสุทธ์ใจ
  • เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ความหมาย: คนเหยาะแหยะ ทำอะไรไม่จริงจัง ไม่ทุ่มเท ไม่เอาการเอางาน ทำอะไรไม่เป็นโล้เป็นพาย เจออุปสรรคนิดหน่อยก็ล้มเลิก ทำอะไรมักไม่สำเร็จแม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ
  • หูผีจมูกมด ความหมาย: รู้เรื่องอะไรได้เร็วทันท่วงที ไหวตัวทันเหตุการณ์ตลอด กล่าวคือผู้ที่รู้เรื่อง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วฉับพลันทันที
  • หาเหาใส่หัว ความหมาย: นำพาปัญหาเรื่องเดือดร้อนมาสู่ตนเอง ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของตน แต่เข้าไปยุ่งจึงต้องเดือดร้อน
  • หน้าไหว้หลังหลอก ความหมาย: ต่อหน้าทำเป็นดีแต่ลับหลังกลับคิดร้าย, ต่อหน้ามะพลับลับหลัง ตะโก ก็ว่า ใช้กับคนที่มีพฤติกรรมต่อหน้าเราอย่างหนึ่ง (ดี) แต่ลับหลังเรากลับทำอีกอย่างหนึ่ง (ไม่ดี)
  • เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง ความหมาย: การกระทำตนเยี่ยงผู้อื่นที่มีฐานะ และความพร้อมมากกว่าเรา โดยที่ไม่ได้คำนึงความสามารถทางการเงินหรือกำลังทรัพย์ของตนเอง หรือเห็นคนอื่นมีฐานะมีอำนาจร่ำรวย ตนเองก็ทำพฤติกรรมเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ
  • หนีเสือปะจระเข้ ความหมาย: การที่หนีอันตรายหรือสิ่งเลวร้ายอย่างหนึ่ง แต่กลับเจออันตรายอีกอันหนึ่ง
  • เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ความหมาย: การเห็นผิดเป็นชอบ หรือเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สำนวนนี้นิยมใช้กับบุคคลที่มักทำในสิ่งที่ชั่วร้าย แต่เข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นดีงามและสมควรกระทำ
  • หว่านพืชต้องหวังผล ความหมาย: ให้ผลประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อหวังผลตอบแทน การทำอะไรที่ไม่ได้ทำให้เปล่าๆ ซึ่งหมายความว่าการกระทำของบุคคลคนหนึ่งหรือคณะหนึ่ง ที่ให้คุณประโยชน์กับผู้อื่น ก็เพื่อที่จะหวังผลตอบแทนกลับมาในอนาคตนั่นเอง
  • หมูในอวย ความหมาย: สิ่งที่อยู่ในกำมือแล้ว จะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นก็ได้ จะต้องการเมื่อไรก็ได้เมื่อนั้น หรือเอาชนะได้ง่ายๆ คำว่าหมู ถ้าใช้เป็นสำนวน หมายถึง ง่าย สะดวก ถ้าเป็น หมูในอวย ก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก เหมือนกับรอให้กินหรือพร้อมที่จะให้กินได้ทุกเวลา
  • หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว ความหมาย: การกระทำที่เป็นการประชดประชันบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยผู้ประชดต้องการทำให้รู้สำนึก แต่ผู้ที่ถูกประชดไม่ได้รู้สึกสำนึกแต่อย่างใด และกลับได้รับผลประโยชน์จากการประชดนั้น

หมวดหมู่ อ.

  • เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ความหมาย: แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า อวดฉลาดกับคนที่มีความรู้ ความชำนาญในสิ่งนั้นมากกว่าตน
  • เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง ความหมาย: เอาทรัพย์ หรือสิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้แก่ผู้ที่มีมากกว่า กล่าวคือ การที่เราเอาทรัพย์สินเงินทอง หรือสิ่งของบางอย่างจากคนที่มีเล็กๆ น้อยๆ ไปให้แก่ผู้ที่มีมากกว่า ซึ่งเป็นการที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง มันเป็นการฝืนธรรมชาติ
  • เอามือซุกหีบ ความหมาย: หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยที่ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้ได้รับอันตราย
  • เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ความหมาย: ขัดขวาง คัดค้านผู้มีอำนาจ ฐานะสูงกว่า หรือผู้ใหญ่กว่า มักจะล้มเหลว ทำให้เดือดร้อน เสียหาย หรือได้รับอันตราย
  • เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ความหมาย: แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่สนใจ เพื่อให้เรื่องหรือเหตุการณ์นั้นๆ ผ่านลุล่วงไป
  • อาบน้ำร้อนมาก่อน ความหมาย: คนที่เกิดก่อน มีอายุมากกว่า คนที่เกิดก่อนย่อมได้รู้ได้เห็นหรือเข้าใจอะไรๆ ก่อนคนที่เกิดที่หลัง ผ่านอะไรมามากกว่า สมบุกสมบันยิ่งกว่า มักจะเห็นโลกมามาก
  • เอาใจเขามาใส่ใจเรา ความหมาย: ให้รู้จักเห็นใจผู้อื่น ให้รู้จักนึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น คิดจะทำอะไรก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย
  • อัฐยายซื้อขนมยาย ความหมาย: การได้รับสิ่งของหรือทรัพย์สินจากผู้ใดผู้หนึ่ง แล้วนำทรัพย์นั้นๆ มาใช้กับผู้นั้น โดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนอะไร
  • อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น ความหมาย: เมื่อไปอาศัยอยู่ที่บ้านของใครก็ควรจะทำประโยชน์ให้กับเจ้าของบ้านนั้นบ้าง เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ

tdap.ru